โครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าเพื่อประเทศไทย

เผยแพร: 22/08/2010 โดย:Web Master

บทความเสธ.ยอด ประจำวันที่ 22 สิงหาคม 2552

ได้ฟังรายงานข่าวจากสื่อสารมวลชน ถึงข่าวลือเขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรีแตกทำให้ชาวบ้านที่รู้อิโหน่อิเหน่ ต่างเตรียมอพยพกันเพราะกลัวว่าเขื่อนแตกแล้วจะหนีไม่ทัน นี่คือทุกข์ของชาวไทย ที่รัฐมนตรี
ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีผู้ดูแลกรมประชาสัมพันธ์ จะต้องรีบออกมาชี้แจงให้กับประชาชนรับทราบ แต่รัฐมนตรีก็ไม่ทำ จนกระทั่ง นายสมบัติ ศานติจารี ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต้องนำสื่อมวลชนพิสูจน์ความแข็งแรงของเขื่อนศรีนครินทร์ กลบข่าวลือเขื่อนแตกปล่อยน้ำท่วมช่วงเกิดแผ่นดินไหว และหนึ่งในคณะสำรวจรายงานว่า ได้ลงลึกไปถึงอุโมงค์ภายในใต้เขื่อนเห็นกับตาว่ามีน้ำรั่วซึมที่ผนัง แต่ไม่มีรอยร้าว ซึ่งเจ้าหน้าที่ยอมรับว่าอัตราซึมของน้ำที่เกิดขึ้นที่เขื่อนศรีนครินทร์ เฉลี่ยไม่เกิน 68 ลิตรต่อนาที ไม่เกินมาตรฐานอยู่ที่100 ลิตรต่อนาที นั่นคือการซึมของน้ำเป็นปกติของเขื่อนดิน สิ่งที่น่าห่วงใยไม่ใช่ที่เขื่อนแตกเสียแล้วแต่เป็นการปล่อยน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ต่างหากที่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน ตามที่กระทรวงพลังงานรายงานการบริหารจัดการความมั่นคงของระบบไฟฟ้าประเทศไทย ให้กับ ครม. เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2552 ว่าเนื่องจากปัญหาการจ่ายก๊าซธรรมชาติจากแหล่งธรรมชาติบงกชในอ่าวไทย และแหล่งก๊าซธรรมชาติยาดานาในประเทศเมียนมาร์ ในระหว่างวันที่ 13-18 สิงหาคม 2552 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าของประเทศดังนี้

1. การผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย มีการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติประมาณร้อยละ 70 โดยในปัจจุบันพบว่ามีแหล่งก๊าซธรรมชาติที่หยุดซ่อมและเกิดเหตุขัดข้อง ทำให้ไม่สามารถจ่ายก๊าซธรรมชาติเพื่อการผลิตไฟฟ้าในเดือนสิงหาคม 2552 ดังนี้
1.1 แหล่งก๊าซธรรมชาติจากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย แปลง A18 (JDA A18) หยุดการผลิตเพื่อซ่อมบำรุงตามแผนระหว่างวันที่ 9 – 19 สิงหาคม 2552ส่งผลให้ปริมาณก๊าซธรรมชาติหายไปจากระบบจำนวน 440 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยเหตุการณ์ดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติ เนื่องจาก ปตท. สามารถเรียกก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอื่นขึ้นมาทดแทน อย่างไรก็ตาม จะมีผลทำให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต้องเดินเครื่อง โรงไฟฟ้ากระบี่ด้วยน้ำมันเตาทดแทนโรงไฟฟ้าจะนะ
1.2 แหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช พบปัญหาท่อ condensate ขนาด 8 นิ้ว บนแท่นผลิตรั่วซึม ในวันที่ 13 สิงหาคม 2552 เวลา 13.30 น. จึงจำเป็นต้องลดการจ่ายก๊าซธรรมชาติจากปกติ 630 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เหลือ 100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และหยุดการจ่ายก๊าซธรรมชาติทั้งหมด ในเวลา 16.00 น. ซึ่งต่อมา ปตท. สผ. ได้แก้ไขปัญหาท่อ Condensate รั่ว แล้วเสร็จเวลา 18.50 น. วันที่ 16 สิงหาคม 2552 ตามแผนที่วางไว้ และเริ่มทยอยเพิ่มกำลังการผลิต และคาดว่าจะจ่ายก๊าซธรรมชาติให้ กฟผ. ได้ปกติวันที่ 19 สิงหาคม 2552 ทั้งนี้ ปตท. ได้ประสานงานกับผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอื่นให้เพิ่มกำลังการผลิตสูงสุด และปรับการเดินเครื่องของโรงแยกก๊าซธรรมชาติ แต่พบว่าความสามารถในการจ่าย ก๊าซธรรมชาติยังคงต่ำกว่าความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติประมาณ 500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
1.3 ต่อมาแหล่งก๊าซธรรมชาติยาดานา สหภาพพม่า ได้หยุดการผลิตฉุกเฉิน (ESD1) เนื่องจากปัญหาด้านเทคนิคในวันที่ 15 สิงหาคม 2552 ในระหว่างเวลา 08.45 น. – 10.24 น. แต่ยังคงจ่ายก๊าซธรรมชาติบางส่วนให้ ปตท. จากปริมาณสำรองในท่อส่งก๊าซธรรมชาติของแหล่งยาดานา และ ปตท. แจ้งขอให้ กฟผ. ลดการใช้ก๊าซธรรมชาติลงตามสัดส่วน เพื่อรักษาความดันก๊าซธรรมชาติ
2. จากเหตุการณ์ข้างต้น กฟผ. ได้บริหารจัดการการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ดังนี้
2.1 ปัญหาแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช
2.1.1 เพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหิน และพลังงานทดแทนเต็มที่ รวมถึงการซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมจากกำลังผลิตตามสัญญาตลอด 24 ชั่วโมง
2.1.2 เพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ได้แก่ เขื่อนรัชชประภา เขื่อน วชิราลงกรณ และเขื่อนห้วยเฮาะในสาธารณรัฐประชาชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นต้น โดยเดินเครื่องตลอด 24 ชั่วโมง และเพิ่มการผลิตไฟฟ้าเขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์บางส่วน
2.1.3 ใช้น้ำมันเตาในการผลิตไฟฟ้าทดแทนก๊าซธรรมชาติที่โรงไฟฟ้าบางปะกง และโรง ไฟฟ้าราชบุรี รวมทั้ง เพิ่มการผลิตจากน้ำมันเตาที่โรงไฟฟ้ากระบี่
2.2 ปัญหาแหล่งก๊าซธรรมชาติยาดานา สหภาพพม่า
2.2.1 ภายใต้เหตุฉุกเฉินและกะทันหัน กฟผ. จึงจำเป็นต้องปล่อยน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์เพิ่มเติม หลังจากการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงอื่นและโรงไฟฟ้าพลังน้ำอื่นมีการผลิตเต็มที่แล้ว และมีความเสี่ยงที่โรงไฟฟ้าจะเกิดขัดข้องและอาจเกิดไฟฟ้าดับในวงกว้าง
2.2.2 ทั้งนี้ จากการเพิ่มการเดินเครื่องเขื่อนศรีนครินทร์ดังกล่าว ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมบริเวณ ตำบลหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งห่างจากเขื่อนท่าทุ่งนา ประมาณ 60 กิโลเมตร บนลำน้ำแควใหญ่ ระดับน้ำสูงกว่าระดับปกติ 2.7 เมตร ในเบื้องต้นมีความเดือดร้อนใน 8 ตำบล ความเสียหายเกิดกับรีสอร์ท 3 แห่ง แพ และพื้นที่เกษตรบางแห่ง ซึ่งขณะนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัด และ กฟผ.ได้เร่งเข้าไปประเมินความเสียหายและช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยมีการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติจำนวนประมาณร้อยละ 70 ส่วนที่เหลือ มาจากโรงงานไฟฟ้าพลังน้ำ, โรงงานไฟฟ้าถ่านหิน, โรงงานไฟฟ้าน้ำมันเตาและโรงงานไฟฟ้าพลังงานทดแทนอีกเพียง 30%
เมื่อเป็นเช่นนี้ เราควรจะเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานน้ำหรือไม่ แต่ถ้าสร้างเขื่อนในประเทศไทยก็ถูกต่อต้านจาก NGO แต่เราก็แก้ไขโดยการซื้อไฟฟ้าจากการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนในลาว และเราก็สนับสนุนการสร้างเขื่อนแม่น้ำสาละวิน ในรัฐฉาน โดยให้บริษัท MDX ของนายสุบิน ปิ่นขยัน ไปสร้างเขื่อนผลิตพลังน้ำในรัฐฉาน แต่ก็ไม่สำเร็จเพราะขาดงบสนับสนุนจากต่างประเทศเนื่องจากสหประชาชาติมีมติ ตัดการค้ากับรัฐบาลเมียนมาร์ ทำให้หาเงินกู้ไม่ได้ และต่อมาก็เป็นความหวังของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตที่จะแก้ไขปัญหาไฟฟ้าของประเทศ ไทยอีกครั้งโดย กฟผ. ร่วมกับ
รัฐบาลทหารพม่า และบริษัท สิโนโฮโดร (Sinohydro) ทำการสร้างเขื่อน ฮัตจี ซึ่งเป็นเขื่อนขนาดใหญ่กั้นแม่น้ำสาละวินในเขตรัฐกะเหรี่ยง ห่างจากชายแดนไทยที่อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ลงไปตามลำน้ำ 47 กิโลเมตร เป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าขนาด 1,360 เมกะวัตต์ เพื่อส่งไฟฟ้าขายแก่ประเทศไทยมูลค่า การก่อสร้างโครงการงบประมาณ 120,000 ล้านบาท แต่กลุ่มสิ่งแวดล้อม และสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ ได้รณรงค์คัดค้านการสร้างเขื่อนดังกล่าว โดยอ้างว่า ถ้ามีการสร้างเขื่อนทหารพม่าเข้าไปในพื้นที่ เพื่อควบคุมการก่อสร้าง บรรดากะเหรี่ยงคริสต์ ก็จะหนีเข้าประเทศไทย

แต่ประเทศไทยต้องการผลิตกระแสไฟฟ้า จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลไทยที่จะต้องดำเนินการบนพื้นฐานผลประโยชน์ของชาติ ไทยเป็นหลักไม่ว่าจะเป็นการสร้างเขื่อนที่แม่น้ำสาละวิน ตลอดสาย ตั้งแต่รัฐฉานลงมา และตกลงกับรัฐบาลเมียนมาร์ถึง การแก้ไขปัญหาของชนกลุ่มน้อยจะทำอย่างไร ทั้ง 2 ประเทศก็จะ Win Win ทั้งคู่ โดยการสร้างความเข้าใจระหว่าง 2 ประเทศอย่าไปสนใจกับมหาอำนาจอื่น ๆ ที่ไม่ต้องการให้เราทั้ง 2 ประเทศมีความเจริญรุ่งเรือง