“45 ปี กฟผ. “ขอบคุณคนไทยพร้อมมอบโรงไฟฟ้าเพิ่ม2โรง ตั้งเป้าเป็นองค์กรชั้นนำกิจการไฟฟ้าระดับโลก!

เผยแพร: 30/04/2014 โดย:Web Master

          45 ปี กฟผ. พร้อมส่งความสุข มอบโรงไฟฟ้าใหม่ให้คนไทยเพิ่ม 2 โรง
เสริมสร้างความมั่นคงระบบไฟฟ้าไทย เดินหน้าเป็นองค์กรชั้นนำในกิจการไฟฟ้าระดับโลก
และเป็นองค์กรที่ส่งเสริมด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่คิดค้นโดยคนไทย
ควบคู่กับการแบ่งปันความรู้ ความชำนาญ และความห่วงใยสู่สังคม
          เมื่อวันที่ 30  เมษายน 2557 นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์
ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ. เริ่มต้นจากการรวมหน่วยงาน 3 แห่ง
คือ การไฟฟ้ายันฮี การลิกไนท์ และการไฟฟ้าตะวันออกเฉียงเหนือเข้าเป็นหน่วยงานเดียวกัน
เพื่อจัดหา ผลิต และ จัดส่งพลังงานไฟฟ้าให้แก่ประชาชน ตั้งแต่ปี 2512 มีกำลังผลิตไฟฟ้าเพียง 907 เมกะวัตต์
และในปี 2557 นี้ ประเทศไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมอยู่ที่ 33,680 เมกะวัตต์
โดย กฟผ. มีกำลังผลิตทั้งสิ้นราว 15,010 เมกะวัตต์ นอกนั้นเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ เอกชนรายเล็ก
และต่างประเทศอีก 18,670 เมกะวัตต์ และ กฟผ.ยังเป็นผู้ดูแลสายส่งไฟฟ้า ขนาดแรงดัน 230 เควี
และ 500 เควี ทั่วประเทศ รวมความยาวทั้งสิ้น 32,384.24 วงจร-กิโลเมตร
          สำหรับในโอกาสครบรอบ 45 ปี  กฟผ. จะขอส่งมอบความสุขให้กับคนไทย โดยโรงไฟฟ้าวังน้อย
ชุดที่ 4 จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน 768 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าจะนะ ชุดที่ 2 จังหวัดสงขลา จำนวน 782 เมกะวัตต์
จะขนานเครื่องเข้าระบบในปีนี้ ช่วยเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าไทย  และ
กฟผ. ยังคงมุ่งพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าอาเซียน (ASEAN Power Grid – APG)
ซึ่งเป็นโครงการสำคัญรองรับการพัฒนาพลังงานร่วมกันของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่จะเกิดขึ้นในปี 2558
          รวมทั้งจะบริหารจัดการการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าให้อยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสม
เพื่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าไทยเป็นสำคัญ ด้วยราคาที่เป็นธรรม พร้อมทั้งดูแลสิ่งแวดล้อมและชุมชนต่อไป
เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงระบบไฟฟ้าไทย แทนคำขอบคุณที่คนไทยมอบโอกาสในการเป็นผู้ดูแลระบบไฟฟ้า
ของประเทศมาตลอด 45 ปีที่ผ่านมา
          ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวต่อว่า ขณะนี้ กฟผ. ได้รับการยอมรับว่าด้านประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าเป็นอันดับหนึ่งในอาเซียน
และในอนาคต กฟผ. ตั้งเป้าจะเป็นองค์กรชั้นนำในกิจการไฟฟ้าในระดับต้นๆ ของโลก โดยมียุทธศาตร์หลักสำคัญ 3 ด้านคือ
1) ปรับปรุง ด้านการผลิตและส่งไฟฟ้า  การบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าและระบบส่งไฟฟ้า ตลอดจนการก่อสร้างโครงการต่างๆ
ให้มีสมรรถนะและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น   ซึ่งขณะนี้ได้นำร่องจัดทำโครงการปรับปรุงการบริหารจัดการโรงไฟฟ้า
(Plant Model)ที่โรงไฟฟ้าพระนครเหนือชุดที่ 1  เพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาระบบให้กับโรงไฟฟ้าอื่นๆ ทั่วประเทศต่อไป
2) การขยายงานด้านธุรกิจต่อเนื่องร่วมกับบริษัทในเครือ และ
3) การนำความรู้ความเชี่ยวชาญในกิจการไฟฟ้าไปเป็นประโยชน์แก่สังคม เช่น
การส่งเสริมและสนับสนุนด้านงานวิจัยและพัฒนา ผลักดันให้เกิดเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่พัฒนาโดยคนไทย
เพื่อส่งเสริมองค์ความรู้และพัฒนาวัสดุ อุปกรณ์ เทคโนโลยีใหม่เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้า และลดการนำเข้าจากต่างประเทศ
พร้อมทั้งสร้างศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. (EGAT Learning Center) 5 แห่ง คือ โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ
โรงไฟฟ้าจะนะ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ทับสะแก โรงไฟฟ้าแม่เมาะ และเขื่อนศรีนครินทร์
เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ของประชาชน เป็นต้น
          ไม่เพียงแต่จะมุ่งพัฒนาระบบการผลิตและส่งไฟฟ้าเท่านั้น  กฟผ. ยังพัฒนาองค์กรให้เป็นผู้นำ
ด้านการอนุรักษ์พลังงานอย่างต่อเนื่อง มีการศึกษาวิจัยและพัฒนาพลังงานทดแทนที่มีแนวโน้มของความเป็นไปได้ในประเทศไทย
หลายชนิด ควบคู่กับการพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าหลักของประเทศ จนเกิดเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนต้นแบบ อาทิ
โรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ และโรงไฟฟ้ากังหันลมที่ทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รวมทั้งดำเนินโครงการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า
หรือ DSM (Demand Side Management) ปลูกฝังให้ประชาชนเกิดจิตสำนึกในการใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่า
และมีประสิทธิภาพ ผ่านผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าเบอร์ 5 จำนวน 21 ประเภท โดยติดฉลากเบอร์ 5 กับผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าดังกล่าว
ไปแล้วกว่า 250 ล้านฉลาก สามารถลดปริมาณกำลังไฟฟ้าตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมากว่า 3,000 เมกะวัตต์
และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้ถึง 10.7 ล้านตัน
          นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ กล่าวต่อไปว่า  กฟผ. ยังมุ่งมั่นใส่ใจในคุณภาพชีวิตของชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม
          ยึดแนวคิดเรื่อง “การแบ่งปันซึ่งกันและกัน” ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งปันองค์ความรู้สู่ชุมชน เช่น
โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำชุมชนบ้านคลองเรือ โดย กฟผ. ให้การสนับสนุนด้านวิชาการบุคลากรผู้เชี่ยวชาญในการให้คำแนะนำ
และแหล่งเงินทุนแก่ชุมชน
          บ้านคลองเรือ จังหวัดชุมพร ส่งผลให้ชุมชนรู้จักการพึ่งพาตนเองด้านพลังงานและการอนุรักษ์ทรัพยากร
สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน  โครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ช่วยเหลือให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
ด้วยการเกษตรแบบผสมผสาน
          นอกจากนี้ กฟผ. ยังได้แบ่งปันความรักความห่วงใยผ่านโครงการอีกมากมาย เช่น โครงการสนับสนุนการกีฬา อาทิ
          ยกน้ำหนัก เปตอง และการแข่งขันเรือพาย เพื่อส่งเสริม พัฒนาศักยภาพและยกระดับนักกีฬาไทยสู่สากล
โครงการแว่นแก้ว
          ที่มอบแสงสว่างทางสายตาแก่ผู้ด้อยโอกาส โดยตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน
สามารถช่วยแก้ไขปัญหาทางสายตาแก่ผู้ด้อยโอกาส แล้วกว่า 200,000 คนทั่วประเทศ  โครงการปลูกป่าฯ
ที่ดำเนินการปลูกป่าในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา
          20 ปี ตั้งแต่ปี 2537 บนพื้นที่กว่า 4 แสนไร่ หรือประมาณ 80 ล้านต้น
สามารถลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้ถึง 80 ล้านตันต่อปี
          สำหรับในปีนี้ กฟผ. ขอเชิญชวนประชาชนร่วมเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผ่านโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติฯ
โดยผู้ที่เข้าเยี่ยมชมหรือเข้าพักตามเขื่อน โรงไฟฟ้า สามารถปลูกป่าร่วมกันได้
ในสถานที่ของ กฟผ. โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และเข้าร่วมกิจกรรมย้อนรอยดูความสำเร็จของโครงการปลูกป่า 20 ปี
กับพันธมิตรของ กฟผ.อีก 5 ทริป พร้อมชิงรางวัลดูงานปลูกป่าโกงกางที่“อินโดนีเซีย”กับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย 10ที่นั่ง
นอกจากนี้ขอเชิญร่วมกิจกรรมรณรงค์รับบริจาคเงินสมทบโครงการแว่นแก้ว เพื่อระดมทุนทรัพย์เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับแว่นตา
และอุปกรณ์ในการให้บริการแก่ประชาชน เพื่อแก้ไขปัญหาทางสายตาแก่ผู้ด้อยโอกาสในสังคม
ดยสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง www.egat.co.th
          “กฟผ. ขอขอบคุณคนไทยที่ให้โอกาสในการสร้างเสถียรภาพระบบไฟฟ้าไทย
และร่วมคิดและแบ่งปันประสบการณ์     กันมาตลอด 45 ปี จากนี้ กฟผ. พร้อมที่จะก้าวไกลไปสู่ระดับโลก
ให้สมกับเป็นรัฐวิสาหกิจแห่งความภาคภูมิใจ และสร้างความสุขให้กับคนไทยอย่างยั่งยืน” ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าว